ในระหว่างปีการศึกษา 2564 -2565 ดร.ฟาติมา ปรียากร ผู้อำนวยการโรงเรียนสันติดรุณ ได้ทำวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย ที่มีบริบทเฉพาะและสอดคล้องกับโรงเรียนวิถีอิสลามอย่างสันติดรุณของเรา โดยมีจุดมุ่งหมายว่า การบริหารจัดการด้วยรูปแบบนี้จะสร้างเด็กที่มีคุณลักษณะที่ดีตามหลักการศาสนาอิสลาม และมีความพร้อมในการเรียนและปฏิบัติศาสนกิจในระดับต่อไป
ซึ่งงานวิจัยนี้เริ่มต้นจากการสร้างและวิเคราะห์องค์ประกอบของรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาระดับปฐมวัยที่เหมาะสมกับบริบทของสันติดรุณ โดยมุ่งเน้นการบริหารที่ควบคุมด้วยวงจรคุณภาพ และคุณลักษณะของผู้บริหารในโรงเรียนวิถีอิสลาม ผนวกรวมกับบริบท วิสัยทัศน์และปรัชญาของโรงเรียนสันติดรุณ
ด้วยการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาองค์ประกอบ และการยืนยันองค์ประกอบของรูปแบบ โดย คณะกรรมการบริหารโรงเรียน คณะครู ผู้บริหารจากโรงเรียนในเครือข่าย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ Santidarun Model จึงเป็นรูปแบบการบริหารการศึกษาในระดับปฐมวัยที่ขับเคลื่อนทั้งการจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบบูรณาการอิสลามที่สอดคล้องกับปรัชญาของโรงเรียนสันติดรุณ พร้อมกับการควบคุมคุณภาพในการจัดการศึกษาคู่ขนานกันไปเป็นฟันเฟืองที่หมุนพร้อมกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) วิธีการจัดประสบการณ์จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการอิสลามศึกษา ที่สอดคล้องกับปรัชญาของโรงเรียนสันติดรุณ และหลักการในการบริหารโรงเรียนวิถีอิสลาม โดยเรียกวิธีการนี้ว่า KBPG Method มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
· K - Knowing Islam เด็กปฐมวัยรับรู้ เรียนรู้ และศึกษาอิสลาม จากครูที่จัดประสบการณ์เรียนรู้อย่าง บูรณาการอิสลาม เน้นการสอนให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยใช้สื่อที่หลากหลาย กิจกรรมที่น่าสนใจ และสร้างความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ของเด็กอย่างเหมาะสมกับวัย สอดแทรกความรู้ของอิสลามลงในกิจกรรมประจำวันของเด็ก โดยครูสามารถบูรณาการความรู้พื้นฐานของอิสลามใน 6 กิจกรรมหลักได้
· P - Practicing Consistency ครูจัดกิจกรรมที่ให้เด็กฝึกปฏิบัติตามหลักการศาสนา ทั้งการละหมาด การแต่งกายที่ถูกหลักการอิสลาม มารยาทที่ดี พื้นฐานการอ่านภาษาอาหรับ การท่องจำดุอาอ์บทขอพร หรือท่องจำซูเราะห์ง่ายๆที่เหมาะสมกับวัย โดยครูสามารถบริหารจัดการเวลาเพื่อให้เด็กได้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเป็นประจำ
· B - Believing เด็กที่ได้รับการฝึกอย่างสม่ำเสมอ จะเกิดความเชื่อและความศรัทธา และความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า มีความอดทน ซื่อสัตย์ และเมตตาต่อผู้อื่น โดยครูเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามจริยธรรมของอิสลาม
· G - Giving to society เด็กรู้จักวางตนในสังคม ช่วยเหลือบุคคลใกล้ชิด คนในครอบครัว เพื่อน ครู มีเมตตา แบ่งปันผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติ โดยครูสามารถบจัดกิจกรรมที่ให้เด็กเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม
(2) วงจรควบคุมคุณภาพตามหลักการศาสนาอิสลาม ที่สอดคล้องกับทฤษฎีวงจรคุณภาพ และการบริหารจัดการแบบอิสลาม โดยมีองค์ประกอบดังนี้
· Planning การวางแผนในการปฏิบัติงานโดยมีการกำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับการพัฒนาเด็ก และการบริหารจัดการเพื่อเป็นโรงเรียนวิถีอิสลาม โดยมีการจัดทำโครงสร้างการปฏิบัติงานที่เหมาะสม มีการมอบหมายผู้ที่รับผิดชอบในการทำงานอย่างยุติธรรม ให้คำแนะนำ ช่วยเหลืออย่างจริงใจ
· Amanah การทำงานโดยมอบหมายต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยการปฏิบัติงานต่างๆของครูต้องยึดหลัก KPBG Method เพื่อจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้เด็กอย่างบูรณาการอิสลาม ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กมีคุณลักษณะที่ตรงกับอัตลักษณ์ของโรงเรียน รวมถึงการรับผิดชอบงานอื่นที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วง
· Muchawara Meeting การประชุมมูเชาวะรอ เป็นการนำหลักการประชุมตามแบบอย่างท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) เพื่อเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานผ่านกระบวนการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำแนะนำ ปรึกษา นิเทศชั้นเรียนและการปฏิบัติงานอย่างกัลยาณมิตร เปิดโอกาสให้มีการตัดสินใจร่วมกัน ระหว่าง ผู้บริหาร ครู บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงใจ เต็มไปด้วยเหตุผล และมีความเป็นธรรม ประพฤติตามมารยาทที่ดีของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.)
· Improving เป็นการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น โดยนำผลการวิเคราะห์ที่ได้จากการประชุม การประเมิน การนิเทศมาพัฒนา เพื่อการพัฒนาครู การพัฒนาเด็ก และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ
แผนภาพที่ 2 รูปแบบการบริหารจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย Santidarun Model ของโรงเรียนสันติดรุณ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
จากแผนภาพทั้งสองจะเห็นได้ว่า เมื่อครูจัดประสบการณ์เรียนรู้ บูรณาการอิสลาม จะทำให้เกิดฟันเฟืองที่หมุนไปรอบตัวเด็ก ให้เด็กได้รู้ ได้ฝึก ได้คิด และได้แบ่งปัน ตามหลักการของอิสลาม ขณะเดียวกัน ฟันเฟืองขนาดใหญ่ในการบริการจัดการด้วยวงจรคุณภาพจะหมุนไปพร้อมกัน เพื่อให้บุคลากรทุกคนในโรงเรียนได้วางแผน ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายด้วย Amanah ความรับผิดชอบต่องาน เพื่อความพึงพอใจต่อพระองค์อัลลอฮ์ มีการควบคุมตรวจสอบ แลกเปลี่ยน ตัดสินใจร่วมกัน ผ่านการประชุม Muchawara และนำข้อปัญหา หรือข้อมูลย้อนกลับไปพัฒนาต่อยอดการทำงานต่อไป เป็นฟันเฟืองที่หมุนต่อเนื่องในการจัดการศึกษา
ซึ่งในปีการศึกษา 2566 นี้ Santidarun Model ได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐานด้วย โดยจะมีผลการทดลองเป็นระยะ เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะกับการบริหารงานในระดับขั้นพื้นฐานต่อไป
댓글